Thursday, January 3, 2008

พุทธสุภาษิต - ในกาลไหนๆ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร


วันนี้ ไปงานศพ คุณพ่อของพี่ที่ทำงาน แล้วทำให้นึกถึงงานศพคุณพ่อ เมื่อต้นปีที่แล้ว

การจากไปของคนที่เรารัก เช่น บุพการี เป็นบทเรียนที่สำคัญ

และยิ่งใหญ่ที่สุด ในชีวิตมนุษย์ ทำให้เราเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

แกร่งมากขึ้น มองโลก และ เห็นอนาคตได้ชัดเจนขึ้น

ชีวิตคนเรา ... มีเกิด มีดับ ไปตามกาล ตามกรรมของแต่ละคน แม้คนที่เรารักเค้ามากที่สุด

ก็มิอาจยื้อเค้าไว้ได้... เราเองจะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้

และทุกครั้งที่ไปงานศพ ก็จะคิดถึง พิธีแผ่เมตตา ขออโหสิกรรม ให้กับผู้ตาย

ถ้าหากว่า เราไปทำสิ่งที่ไม่ดีให้กับผู้ตาย ทั้งกาย วาจา และใจ ก็ขออโหสิกรรมด้วย

จากที่เคยนึกโกรธใครอยู่ ก็เลยพลอยทำให้ผ่อนคลายจิตใจไปได้

ดังที่พระพุทธองค์ได้สอนไว้ว่า เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร

---------------------------------------------


เวร....คือ....การจองล้าง..จองผลาญ..ซึ่งกันและกัน

ดังนั้น..บุคคลผู้จองเวร....จะมีใจผูกแค้น..ต่อคู่เวร..กับตนเองปรารถนา..จะให้เขาพินาศ..ต่างๆ เมื่อจองเวรต่อเขา..เขาก็จะจองเวรตอบ

มุ่งหวัง..จะเข้าห้ำหั่นกัน..ไม่มีที่สิ้นสุด

แล้วเวรจะระงับ..ได้อย่างไร

แต่ถ้าทั้งสองฝ่าย..พิจารณาเห็นโทษ..แล้วหยุดเสีย

ทั้งสองฝ่าย..หรือฝ่ายใด..ฝ่ายหนึ่ง....โดยมีขันติ..และเมตตา..เข้าช่วย

เวรก็จะสงบ..และระงับได้

การอภัยทาน คือ การทำทานที่ยากที่สุดแต่ผลได้รับสูงที่สุดทั้งต่อจิตใจและสุขภาพ

ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร


จากทางแห่งความดี อ.วศิน อินทสระ

พระพุทธภาษิต :

น หิ เวเรน เวรานิ สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ อเวเรน จ สมฺมนฺติ เอส ธมฺโม สนนฺตโน

คำแปล : ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า อธิบายความ การผูกเวร ก็เหมือนกับการผูกพยาบาท

เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บกันอยู่ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้

แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตาให้เสมอๆ เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน การไม่ผูกเวรทำให้จิตใจเราสบาย

เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู

แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้น มองไปทางใดก็เจอแต่มิตร เพราะฉะนั้น พระเจ้าโกศล เมื่อให้โอวาทพระราชโอรส ทรงพระนามว่า ฑีฆาวุกุมาร

จึงตรัสว่า ฑีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่กาลยาว อย่าเห็นแก่กาลนั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้ เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ

คำว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้

เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว

คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร

มีอะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง